วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ถอดรหัสเส้นทางนวัตกรรมโออิชิ


วันที่ 18 ตุลาคม 2552 00:00
โดย : วันเพ็ญ แก้วสกุล

เอ่ยชื่อ "โออิชิ" ไม่มีใครไม่รู้จักเช่นเดียวกับ "ตัน ภาสกรนที" ผู้สร้างตำนาน "โออิชิ" ชื่อก้อง ที่เปี่ยมสีสันไม่แพ้แบรนด์ในมือ



ฉากหน้าด้านมาร์เก็ตติ้งไม่มีใครปฏิเสธว่า ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นี้ครบเครื่องเชิงกลยุทธ์ ที่สำคัญอ่านเกมขาด และวางหมากให้ตัวเองรุดหน้าไปไกลกว่าคู่แข่ง

สำหรับการจัดการ “หลังบ้าน” เจ้าพ่อชาเขียวรายนี้ก็มีสไตล์การบริหารที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

การผลิตเป็นหัวใจของความสำเร็จ โออิชิ ในตำนานธุรกิจชาเขียวในไทยก็ว่าได้ ทั้งยังเป็นการพิสูจน์ฝีมือ ไม่ว่าจะผลิต หรือ ขาย ล้วนต้องมีนวัตกรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วยเสมอ

ในยุคที่ โออิชิ ฮิตติดลมบนใครๆ ก็ต้องถามหามาบริโภค เรียกว่าเป็นยุคผลิตไม่ทันขาย การคาดการณ์กำลังผลิต และบริหารต้นทุนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของโออิชิในวันนี้

เขาเรียกแนวทางการบริหารต้นทุนนี้ว่า Ideal Cost หรือการตั้งเป้าหมายที่จะปรับปรุง และทำให้ดีกว่าปัจจุบันขึ้นไปอีก 10 เท่า เรียกว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

การจะเดินไปสู่ตรงนั้นได้ ตัน เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ภาพรวมเพื่อหาต้นทุนที่ต้องการให้เจอ ตามมาด้วยการกำหนดหาความสูญเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้นว่าอยู่ตรงไหน แล้วกำหนดภาระหน้าที่แต่ละคน ถึงตรงนี้จะสามารถลดต้นทุนไปได้ราว 50%

จากนั้นเข้าสู่การปฏิบัติงานซึ่งส่วนนี้ ตัน บอก.. หากวางแนวทางบริหารจัดการดีๆ แล้วสามารถลดต้นทุนได้ถึง 20%

ที่สุดแล้วเป้าหมายในใจ เขา ต้องการให้ โออิชิ เป็นโรงงานผลิตที่ดีที่สุดในระดับโลก แต่วันนี้ขอเริ่มต้นด้วยการทำให้ดีที่สุดในระดับเมืองไทย ก่อนขยับไประดับภูมิภาค และระดับโลก

"ผู้บริหารส่วนใหญ่มักยึดกับคำว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถือเป็นคำที่จำกัดการเติบโตของธุรกิจ"

คาถาในใจที่ทำให้ โออิชิ มักจะเซอร์ไพรส์ตลาด และคู่แข่งอยู่เสมอ คือ การที่ ตัน มักจะมองเห็นโอกาสและเป้าหมายที่ท้าทายอยู่ตลอดเวลา และมักพูดเสมอว่า

"ผมชอบที่จะมีคู่แข่ง ถ้าไม่มี ผมจะรู้สึกไม่มีแรงทำงาน"

ความท้าทายในการทำงาน นอกจากมีคู่แข่งเป็นยาชูกำลัง การสรรหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาถือเป็นลักษณะพิเศษของผู้บริหารชาเขียวค่ายนี้

นวัตกรรม สำหรับ ตัน แล้วมองว่า อาจจะแปลว่า “สิ่งใหม่ๆ” แต่สำหรับตัวเขาแล้ว นวัตกรรม แปลว่า “เก่า” แต่มีการนำมาพูดใหม่หรือ ทำใหม่เท่านั้น

"บางครั้งการคิดง่ายๆ ก็ประสบความสำเร็จได้"

พื้นฐานความคิดที่นำมาต่อยอดเป็น นวัตกรรม 4 ด้านของ โออิชิ ประกอบด้วย

- โปรดักท์ (Product) การบุกเบิกเครื่องดื่มชาเขียว น้ำส้มเซกิ ชาบูชิ ฯลฯ

- กระบวนการผลิต (Process) การบริหารจัดการต้นทุน

- วิสัยทัศน์ (Vision) ของผู้นำเป็นเครื่องบอกความสำเร็จขององค์กร

ตัน ว่า จากประสบการณ์เห็นมาแล้วซีอีโอหลายคนมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นความเสี่ยง แต่ความเป็นจริงแล้ว การไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำอะไรในแบบเดิมๆ คือความเสี่ยงมากที่สุดขององค์กรนั้นๆ และ เขา ก็ไม่อยากให้ โออิชิ กรุ๊ป เป็นอย่างนั้น

"บทบาทของซีอีโอ คือต้องส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และควบคุมความเสี่ยงนั้นให้ได้ด้วยแผนงานที่ดี"

ไอเดียจากพนักงานเป็นมิติที่ ตัน ให้ความสำคัญ กับการเอาใจใส่เพื่อนร่วมงานให้มีความสุข ในแบบที่ ธุรกิจ ก็ถึงเป้าหมาย คน หรือ พนักงานก็ต้องเติบโต

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ตัน และ โออิชิ ไม่เหมือนใคร คือ ความเชื่อ

ตัน เชื่อว่า ในวิกฤติ ข้างในมีโอกาส หลายครั้งที่คนอื่นๆ ในตลาดยอดขายลดลง แต่สำหรับ โออิชิ เติบโต ด้วยวิธีคิด และวิธีการทำงานใหม่ ๆ อาทิ แคมเปญ "ไปแต่ตัว ทัวร์ยกแก๊งค์" กิจกรรมที่ผลักดันยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมากแม้ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจและกำลังซื้อ

"การไม่ยึดติดในกรอบความคิดเก่าๆ และเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เพราะสิ่งที่ดีที่สุดยังไม่เกิดขึ้น"

แนวคิดที่ไม่สลับซับซ้อน แต่เป็นการปฏิบัติที่วัดผลจริงมาแล้วกับ โออิชิ อาณาจักรชาเขียว ที่แม้วันนี้จะอยู่ในมือของตระกูล "สิริวัฒนภักดี" แต่ยุทธศาสตร์การเคลื่อนทัพ "โออิชิ กรุ๊ป" ยังเดินในจังหวะของ "ตัน ภาสกรนที"

Source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20091018/82052/ถอดรหัสเส้นทางนวัตกรรมโออิชิ.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น