วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

SCG โรงเรียนสอนผู้นำสายพันธุ์ไทย


วันที่ 21 สิงหาคม 2552 12:21
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ใครมีความสามารถเติบโตได้หมด เพราะเราต้องการส่งเสริมคนที่เก่งที่สุด และดีที่สุด ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร

“ยูนิลีเวอร์” เป็นองค์กรระดับโลกที่ได้รับการยกนิ้ว ว่า เป็นโรงเรียนสอนผู้นำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในแวดวงธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และกลยุทธ์การตลาดที่ซับซ้อนเหนือใคร

“SCG” หรือเครือซิเมนต์ไทยเป็นองค์กรแถวหน้าของฟ้าเมืองไทย ที่ได้รับการยกนิ้วว่าเป็น บริษัทที่เชื่อมั่นในศักยภาพของคนอย่างถึงที่สุด ในแวดวงธุรกิจปิโตรเคมี เยื่อกระดาษ และปูนซีเมนต์ ด้วยกลยุทธ์การสร้างคนที่โดดเด่นเหนือใคร

หลายบริษัทอยากวัดรอยเท้าความสำเร็จพิมพ์เดียวกับ SCG แต่หล่อแม่พิมพ์ออกมาเท่าไหร่ๆ ก็ไม่เหมือน

เหตุผลเป็นเพราะ ผู้นำในหลายบริษัทเหล่านี้ ยังไม่มีจิตวิญญาณความเชื่อมั่นในคนอย่างแท้จริง

ถึงตอนนี้ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และภาวะผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาธุรกิจหลายแห่งในเมืองไทย ต่างชะลอการรับคน งดจ่ายโบนัส ตัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง อย่างเลวร้ายที่สุดก็คือการปลดคน

ขณะที่การเติบโตอย่างถล่มทลายเหนือความคาดหมายของ SCG ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ “กานต์ ตระกูลฮุน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บอกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า มาจากการเตรียมคนให้พร้อมเสมอในทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา

ถึงตอนนี้จึงถือเป็นช่วงเวลาดีๆ ของการเก็บเกี่ยวดอกผล เผลอๆ อาจทบทั้งต้นทั้งดอก อย่างสบายใจเฉิบ ขณะที่หลายองค์กรกำลังนั่งปาดเหงื่อ

เมื่อองค์กรที่โปรดปรานความสามารถของคนที่สุดแห่งนี้ จะเปิดบ้านต้อนรับผู้คน ให้มาเรียนรู้และสัมผัสแก่นแท้ของการสร้างคนปูน ในแบบฉบับผู้นำสายพันธุ์ไทย หัวใจอินเตอร์

ในงาน Thailand Top Leaders Forum : Leading Human Capital in Challenging Time จันทร์ที่ 24 ถึง อังคารที่ 25 ส.ค. 2552 ณ สำนักงานใหญ่ บางซื่อ

เชื่อได้เลยว่าจะมีบรรดาผู้บริหารทั้งในฟากซีอีโอและ HR นับร้อยคน จะส่งตัวเองมาเข้าโรงเรียนผู้นำหลักสูตรเร่งรัดแบบสองวันจบ เพื่อไปรับมือกับความยากลำบากอีกหลายระลอกที่จะถาโถมเข้ามา

กานต์กล่าวว่า การบริหารคนถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ การเติบโตของ SCG เกือบร้อยปีที่ผ่านมา และฝ่าฟันวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้ การก้าวไปสู่ผู้นำในอาเซียนตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ได้

คนจึงถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด

“เราต้องการคนเก่งและดี มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรม ที่ SCG ใครมีความสามารถเติบโตได้หมด เพราะเราต้องการส่งเสริมคนที่เก่งที่สุด และดีที่สุด ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร”

SCG ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนระยะยาว โดยมองว่าเป็น “การลงทุน” ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ “ค่าใช้จ่าย” ที่ต้องจ้องตัดอย่างไม่คลาดสายตา

“การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ จะทำให้คนมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้ในทุกสถานการณ์”

แต่ละปี SCG จะมีงบวิจัยพัฒนาไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ในการเฟ้นหานวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่าง ขณะที่งบการพัฒนาคนก็สูงลิ่วอย่างไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน เฉพาะปีนี้มีการใช้จ่ายไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท

“เราไม่เคยลดงบประมาณด้านการฝึกอบรม แม้จะประสบกับภาวะทางเศรษฐกิจมากแค่ไหน แล้วงบที่วางไว้ทุกก้อน ก็พยายามใช้ให้หมดทุกปี ไม่ให้มีเหลือ”

แนวทางหลักของงาน Thailand Top Leaders Forum จะมุ่งแสดงและแบ่งปันแนวคิดหลากหลายของบรรดาผู้นำทั่วฟ้าเมืองไทย รวมถึงมือวางทางด้าน HR จากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และสถานศึกษา มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวิสัยทัศน์การบริหารทรัพยากรบุคคล

ท่ามกลางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายของบรรดาผู้นำนับจากนี้

เป้าหมายจากนี้ไป SCG ต้องการเป็นผู้นำทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลระดับภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโตในฐานะผู้นำธุรกิจระดับอาเซียน

พร้อมจัดทำ HR index รวบรวมข้อมูลต่างๆ ในสายงานการพัฒนาบุคคล อาทิเช่น ข้อมูลแรงงาน ผลงานวิจัยด้าน HR โดยคาดว่าจะเสร็จในปีหน้า เพื่อให้องค์กรต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารคนต่อไป

Source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20090821/70848/SCG-โรงเรียนสอนผู้นำสายพันธุ์ไทย.html

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เปิดผลวิจัย 10 กรอบชี้วัด ยกระดับมาตรฐาน CSR ในองค์กร

โดย : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ : 22/11/2007 04:59 AM

นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 เป็นต้นมา ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และมูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) ได้ร่วมกันทำโครงการวิจัยกรอบตัวชี้วัดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อค้นหากรอบชี้วัดที่เหมาะสมกับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในบริบทแบบไทยๆ ในวันที่เริ่มมีมาตรฐานการทำ CSR ออกมามากมายในระดับสากล

หลังจากได้เก็บข้อมูลและฟังความคิดเห็นจากองค์กรเข้าร่วมโครงการกว่า 10 องค์กรได้แก่ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด เอสวีเอ็น บริษัท เมอร์ค จำกัด สมบูรณ์ กรุ๊ป บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด และชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท

ถึงวันนี้โครงการวิจัยได้แล้วเสร็จและได้มีการเปิดผลวิจัยดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้งานสัมมนา "ก้าวที่ล้ำนำหน้ามาตรฐานและการประเมินผล CSR ในองค์กร" เปิดผลวิจัยเครื่องมือชี้วัดเบื้องต้นความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจไทย (CSR indicators) โดยมี อนันตชัย ยูรประถม นักวิชาการจากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.สมพร กมลศิริพิชัยพร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชลธร ดำรงศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมคุณภาพงาน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ จงโปรด คชภูมิ ผู้จัดการส่วนชุมชนสัมพันธ์ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

CSR ต้องอยู่ในทุกส่วนขององค์กร

อนันตชัย ยูรประถม ในฐานะนักวิจัยโครงการวิจัยกรอบตัวชี้วัดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ กล่าวว่า ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในการทำ CSR ที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของสังคมควบคู่ไปกับความยั่งยืนขององคฺ์กรนั้น องค์กรที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมีการบรรจุเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในพันธกิจ วิสัยทัศน์และมีกลยุทธ์ในการปฏิบัติ

การทำ CSR จะประสบความสำเร็จได้ต้องไม่ใช่เป็นงานเพียงส่วนเดียวขององค์กร ถ้าผู้นำไม่เอาจริงเอาจังและขับเคลื่อนองค์กรด้วยความรับผิดชอบทั้งหมดในทุกส่วนทั้งกระบวนการภายในและภายนอก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก ในงานวิจัยยังพบด้วยว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำ CSR จะมีการกำหนดแนวปฏิบัติ มีการวางกรอบและทิศทางที่ชัดเจน หลายองค์กรมีการตั้งคณะกรรมการ CSR ที่มีตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงานและให้ความสำคัญกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เช่น เมอร์ค ที่ให้ความสำคัญกับ "คู่ค้า" เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (key steakholder) เพราะฉะนั้นในการกำหนดกลยุทธ์ CSR จึงให้ความสำคัญกับการที่คู่ค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ตลอดจนการสื่อสารที่ไม่ได้มุ่งเน้นการสื่อสารผ่านสื่อโฆษณา แต่เป็นการสื่อสารที่มุ่งตรงไปยังคู่ค้าเป็นหลัก ผลทางธุรกิจที่ได้นอกจากช่วยเหลือสังคมยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน

"...เราพบว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จส่วนมาก มุ่งเน้นการทำ CSR จากภายในองค์กรมากกว่าการให้ความช่วยเหลือสังคมผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยซ้ำ โดยเน้นกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับพนักงานภายใน โดยเดินแนวทางการแสดงความรับผิดชอบระหว่างการทำงานภายในองค์กรและภายนอกองค์กรควบคู่ไปด้วยกัน..."

สำหรับการประเมินผล จะเห็นได้ว่าแม้องค์กรส่วนใหญ่จะทำงานด้านนี้มานาน แต่ในการประเมินผลยังคงวัดในลักษณะโครงการ ยังไม่ได้มีการวัดเป้าหมายในภาพรวมทั้งระบบ

กรอบชี้วัดมุ่งเน้นระบบ

จากผลวิจัยจึงถูกนำมาวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานต่างประเทศ จึงให้ความสำคัญกับกรอบการประเมินผล CSR ในองค์กร โดยมุ่งที่ประเด็นการจัดการเชิงคุณภาพ ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดของบอลริดจ์ (Balridge quality sytem) ซึ่งในไทยจะคุ้นเคยกับแนวคิดนี้ ผ่านแนวทางการประเมินผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพราะเชื่อว่าในการดำเนินการเรื่อง CSR ในองค์กรจำเป็นต้องมองในเชิงระบบ และการนำไปปฏิบัติจริงในองค์กร

ทำให้กรอบตัวชี้วัด CSR ในงานวิจัยครั้งนี้ มีลักษณะสำคัญ 4 ประการ ประการที่ 1 เป็นการมุ่งเน้นจากภายในสู่ภายนอก (inside-out) ประการที่ 2 การมุ่งเน้นระบบ (process based) ประการที่ 3 มุ่งเน้นในเรื่องของผลการดำเนินงาน (performance driven) และประการที่ 4 มุ่งเน้นในแง่วิธีการไปถึงเป้าหมาย การถ่ายทอดสู่การปฏิบัติจริงในองค์กร รวมไปถึงการเรียนรู้และการบูรณาการให้เป็นแนวทางที่สามารถปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละองค์กร

ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ทำให้การทำ CSR ไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงต้องประกอบไปด้วยค่านิยมหลักดังนี้ 1) การมุ่งสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมจากภายในสู่ภายนอก 2) การนำองค์กรด้วยวิสัยทัศน์ของความรับผิดชอบต่อสังคม 3) การสร้างการมีส่วนร่วม 4) การให้ความสำคัญแก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย 5) มุมมองเชิงระบบ 6) การสร้างนวัตกรรมใหม่ 7) การสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจ 8) มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรและสังคม และ 9) การเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม

โดยให้คำนิยาม CSR ไว้ว่า "เป็นความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการปฏิบัติและตัดสินใจอย่างเป็นระบบ (system) เริ่มตั้งแต่การป้องกัน (prevent) ปรับปรุง (improve) รักษา (maintain) และพัฒนา (develop) ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ (innovation) จากภายในองค์กรออกไปสู่สังคมวงกว้าง เป็นไปตามกฏหมายที่บังคับใช้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญ"

"...เรามองว่าการทำ CSR องค์กรควรเริ่มมองจากความรับผิดชอบที่องค์กรจะมีจากผลกระทบทางสังคมเป็นสำคัญ ตั้งแต่การป้องกัน ปรับปรุงและพัฒนาสิ่งที่องค์กรจะสร้างผลกระทบให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องเริ่มตั้งแต่ภายใน โดยพื้นฐานจะต้องเคารพต่อกฎหมายและดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และตอบสนองต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับการเป็นพลเมืองดีของสังคม เพราะเชื่อว่าจะสามารถเป็นใบเบิกทางให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคม ฉะนั้นการทำงานทุกอย่างสังคมจะเป็นผู้ตรวจสอบเสมอ จึงต้องมีการเชื่อมโยงความรับผิดชอบจากภายในสู่ภายนอก มีกลยุทธ์ไม่ได้เป็นแบบฝึกหัดที่คิดจะทำก็ทำ ที่สำคัญการมอง CSR เป็นกระบวนการจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ในระยะยาว..."

10 แนวทางสู่ความสำเร็จ

สำหรับกรอบที่ใช้ในการชี้วัดและประเมินผลการทำงานและพัฒนา CSR ในองค์กรนั้น อนันตชัย กล่าวว่า กรอบตัวชี้วัด CSR ที่เชื่อว่าหากองค์กรที่ดำเนินการตามกรอบนี้แล้วนั้น จะทำให้การดำเนินการ CSR ในองค์กรมีความยั่งยืนในระยะยาวนั้น แบ่งเป็น 10 ประเด็น ประกอบด้วย

1. การนำองค์กร ของผู้นำระดับสูงที่จะทำให้องค์กรเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน โดยมองตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ ค่านิยมและพันธะสัญญา และการถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติ รวมไปถึงบรรยากาศเพื่อส่งเสริมและการปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไปจนถึงธรรมาภิบาลในองค์กร

2. การวางแผนเชิงกลยุทธ์ โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดทำวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ โดยเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนขององค์กร รวมไปถึงการจัดทำกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การวางแผนการจัดการความเสี่ยงและการถ่ายทอดกลยุทธ์ลงสู่การปฏิบัติ

3. ลูกค้าและตลาด โดยมองว่าองค์กรควรจะกำหนดความรับผิดชอบที่องค์กรมีต่อลูกค้า คู่แข่งและตลาด การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าให้กับลูกค้าและตลาด เช่น การดูแลและคุ้มครองผู้บริโภค การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการกับผู้บริโภคอย่างถูกต้องและเหมาะสม การสนับสนุนคู่ค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

4. สิ่งแวดล้อม ที่องค์กรควรจะจัดการ ได้แก่ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรและสังคม

5. การวัดวิเคราะห์และการจัดการความรู้ โดยมุ่งที่จะเลือก รวบรวม วิเคราะห์ จัดการและปรับปรุงองค์ความรู้ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร รวมไปถึงการถ่ายทอดความรู้ต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

6. ทรัพยากรบุคคล ควรมีการปฏิบัติต่อบุคลากรขององค์กร โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน การจ้างงานสิทธิและการมีส่วนร่วมของพนักงาน การพัฒนาและส่งเสริมพนักงาน

7. การสื่อสาร โดยมองไปที่การสื่อสารทั้งในมิติของภายในองค์กรและภายนอกองค์กร

8. การจัดกระบวนการ ซึ่งเป็นการจัดการกระบวนการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการแก่ลูกค้าขององค์กรอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะในแง่ของการป้องกันและการจัดการผลกระทบจากธุรกิจ การจัดการของเสีย (waste management) การจัดการทรัพยากร การพัฒนาและออกแบบกระบวนการเพื่อลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

9. ภาครัฐและสังคม การดำเนินการตามระเบียบและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม โดยปฏิบัติตามกฎหมาย การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคม รวมไปถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กร

10. ผลลัพท์ โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ของการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมด้านต่างๆ ขององค์กร ผลลัพธ์ทางสังคมแบ่งเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผลลัพธ์ขององค์กร ด้านลูกค้าและตลาด สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรบุคคล ด้านการสื่อสารความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และด้านกระบวนการดำเนินธุรกิจ


อย่างไรก็ตาม อนันตชัย กล่าวว่า "...เราอยากให้ CSR ในองค์กรมีการทำเป็นกระบวนการ มีแนวปฏิบัติและนำไปสู่ความสำเร็จ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การถ่ายทอดความรับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอ และก่อให้เกิดการเรียนรู้ และมุ่งหวังว่าในท้ายที่สุดองค์กรจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านนั้น เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในท้ายที่สุดเชื่อว่าภาพขององค์กรและการทำ CSR จะแยกจากกันไม่ได้ แต่ต้องเดินไปอย่างสอดคล้องกัน..."

เพราะเชื่อว่าเมื่อสังคมมีสุข องค์กรย่อมมีสุขด้วยเช่นกัน !!!