วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

CSR ยี่ห้อ CPF


วันที่ 23 กันยายน 2552 06:32
โดย : วรนุช เจียมรจนานนท์
เราคุ้นเคยกับ CPF หรือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตอาหารแปรรูปแถวหน้าของประเทศ กับการวางเป้าหมายครัวของโลก
การจะขึ้นลิฟต์สู่มาตรฐานองค์กรสากลได้ ต้องประกอบด้วยงานวิจัยพัฒนา กระบวนการทำงาน ซึ่งสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค และนโยบายการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการช่วยเหลือจุนเจือสังคม

ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่จดจำ CPF ได้ กับหลากผลิตภัณฑ์คุณภาพพร้อมทาน (ready meal) ในตู้แช่ โดยเฉพาะกับพระเอก “เกี๊ยวกุ้ง” ตัวโตๆ ที่เห็นขนาดปุ๊บ ก็รู้ปั๊บว่าเป็นของเครือ CP

อย่างหนึ่งที่อาจเป็นที่รับรู้อยู่บ้าง แต่ผู้คนไม่สามารถจดจำได้ เพราะความมากมายไม่รู้จบของกิจกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) จากการที่ทั้งเครือ CP และ CPF ทำมาเนิ่นนานจนกลายเป็นธรรมชาติของธุรกิจ

หลายปีมานี้ CPF จึงพยายามขมวดแนวคิด CSR ไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน

อดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจอาหารสัตว์น้ำจืด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บอกว่า จริงอยู่การทำงานกับเครือ CP ถือเป็นเรื่องของธุรกิจ ที่ต้องมีเป้าหมาย มียอดขาย มีผลกำไร แต่เมื่อเข้าถึงเนื้องานจริงๆ จะเป็นลักษณะของการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ สร้างงานสร้างอาชีพกับชุมชน

“ที่ผ่านมาวิถีชีวิตชาวบ้านกับวิถีธุรกิจของเครือ CP กลมกลืนกันมาก เราได้ขายอาหารสัตว์เชิงธุรกิจก็จริง แต่ผลต่อเนื่องที่ตามมาคือ เกษตรกรมีรายได้เข้าหมู่บ้าน ลูกค้า CP หลายรายจากที่ไม่มีอะไรเลย กลับมาฟื้นตัวมีรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท การทำธุรกิจต้องมีเงินถึงจะไปทำ CSR ได้ และบทบาทหน้าที่นี้ CP เราเด่นชัดว่า ต้องอยู่ในธุรกิจที่ทำประโยชน์ให้สังคม”

เขาเข้าทำงานกับเครือ CP ตั้งแต่ปี 2527 หลังเรียนจบคณะสัตวบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากงานสัตวแพทย์ดูแลฟาร์มหมู ก็ขยับมาเป็นเซลส์ขายอาหารสัตว์บก อาหารกุ้ง และสัตว์น้ำจืด จากนั้นก็ขยายบทบาทมาเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริมการเลี้ยงสุกร ไข่ไก่ และสัตว์บก

อดิศร์ยอมรับว่า แต่ละปีเขาใช้ชีวิตอยู่กับเกษตรกรที่ต่างจังหวัด มากกว่าทำงานนั่งโต๊ะห้องติดแอร์ในกรุงเทพฯ

“คน CP อยู่กับเกษตรกร อยู่กับคนรากหญ้า ถ้าไม่ได้ทำงานกับ CP จะเข้าใจเรื่องนี้ยาก ว่าทำไมผูกพันกับวิถีเกษตรกรรมเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน”

เขาบอกว่า ปีแรกๆ ของการมาทำงาน ตื่นเช้าก็มาทำงาน เย็นกลับบ้าน แล้วก็รับเงินเดือน แต่พอเวลาผ่านไป งานก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่รู้สึกเหมือนว่ามาทำงาน รู้แต่ว่ามาทำสิ่งดีๆ มีประโยชน์ ความสำเร็จของงานไม่ได้อยู่เพียงเป้าหมายการขาย แต่อยู่ที่การทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในอาชีพ

“CP ทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกแบบนี้ เกือบทุกคนก็ว่าได้ เรียกได้ว่า 90% ของพนักงาน CP จะมีบุคลิกแบบนี้ เป็นเพราะค่านิยม เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ยิ่งทำงานก็ยิ่งสนุก”

ในก้าวจังหวะที่กระแส CSR กำลังเพิ่มความแรงมากขึ้นทุกขณะ เขามองว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับความเป็นคน CP จากวิสัยทัศน์ที่ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ได้พูดไว้แต่เริ่มแรกว่า CP ทำงานที่ไหน ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ไม่ทำให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเดือดร้อนเสียหาย ถือเป็นการปลูกฝังแนวคิดที่หยั่งรากลึกจนนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

เพียงแต่ว่าในก้าวจังหวะของการเคลื่อนธุรกิจสู่โลกเศรษฐกิจยุคใหม่ นโยบายที่ทุกหน่วยงานในเครือต้องขานรับร่วมกันคือ ทุกพื้นที่การทำงานในท้องถิ่น ต้องช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรต่อสาธารณชน และรับผิดชอบต่อทุกชุมชนที่ไปอยู่อาศัย

ปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา CPF เพิ่งเสร็จสิ้นการสานต่อ โครงการทดลองหมู่บ้านประมง บ้านห้วยเจริญ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นปีที่สอง จากระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2551-2555) โดยร่วมกับจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขื่อนสิริกิติ์

พัฒนาอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว โดยเน้นเทคโนโลยีวิชาการด้านการผลิต การจัดการ และการตลาดครบวงจร ส่งเสริมการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง และสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 4.9-8.2 หมื่นบาท

“แนวความคิดในการพัฒนาเกษตรกร ต้องมอง 3 ด้านคือ เงินทุน วิชาการเทคโนโลยี และตลาดซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ที่ผ่านมาเกษตรกรสามารถผลิตได้ดี เลี้ยงปลาเก่ง แต่มีปัญหาด้านตลาด และระบบการจัดการลอจิสติกส์ จะเลี้ยงปลาอย่างไรให้ไม่ล้นหรือไม่ขาด รู้จักวางแผนการผลิต และแผนขยายการบริโภค เราเปลี่ยนแนวคิดเลี้ยงแล้วขาดทุน โดยเอาหลักการของ CPF มาใช้ส่งเสริมเกษตรกร”

ประสานประโยชน์ทุกฝ่าย เผยแพร่ภาพลักษณ์องค์กร เดินหน้าธุรกิจสู่ความยั่งยืน และตอบสนองต่อวิถีชีวิตชุมชน เป็นอีกโมเดล CSR ที่พะยี่ห้อโดย CPF

Source: http://www.bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น