วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อนาคตกำหนดได้ของ อนุรัตน์ ก้องธรนินทร์


วันที่ 15 มกราคม 2553 07:00 อนาคตกำหนดได้ของ อนุรัตน์ ก้องธรนินทร์
โดย : ชนิตา ภระมรทัต

ภาวะสุญญากาศของงานประจำคือโอกาสที่ช่วยทำให้คนค้นพบศักยภาพอื่นๆ ที่มีอยู่ในตัว (แต่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน) เช่นเดียวกับ "อนุรัตน์ ก้องธรนินทร์"

ในวันที่บทกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีฉากที่ต้องแสดง เขากลับมีเวลาค้นพบความสามารถทางด้าน

"นักแปล"

ผลงานหนังสือเล่มแรกที่เขาแปลนั้นถูกตีพิมพ์และวางจำหน่ายแล้วชื่อ "อนาคตกำหนดได้ด้วยกฎทอง 3 ประการ" (the three laws of performance) ซึ่งเขียนโดย Steve Zaffron และ Dave Logan

ที่สำคัญ วอเรน เบนนิส (Warren Bennis) ปรมาจารย์ด้านภาวะผู้นำ ให้เกียรติรับเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้

อนุรัตน์บอกว่าตัวเขาเองปกตินั้นชอบอ่านหนังสือเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะหนังสือแนวที่สามารถนำเนื้อหามาใช้พัฒนาเพื่อตัวเองและองค์กรได้

"หนังสือเล่มนี้ที่ผมชอบและอาสาเป็นผู้แปล เพราะเนื้อหามาจากการวิจัย เก็บข้อมูล ยกกรณีศึกษาในการก้าวข้ามปัญหาได้จริงของแต่ละองค์กร กระทั่งในชีวิตของคนคนหนึ่งซึ่งที่ผู้เขียนทั้งสองมีโอกาสได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษา"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบนโลกใบนี้ไม่ว่าใครหรือองค์กรไหนล้วนต้องประสบปัญหามากมาย ทั้งคล้ายคลึงและแตกต่าง หากแต่ทำอย่างไรจึงจะสามารถก้าวข้ามมันได้?

พร้อมกันนี้เขาได้ยกข้อความที่วอเรน เบนนิส เขียนถึงหนังสือเล่มนี้มาสนับสนุนความคิดอีกแรง ซึ่งมีใจความว่า "ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะมีความ สำคัญมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ความคิดที่เกิดขึ้นมันไปไกลมากกว่าหนังสือแนวธุรกิจทั้งหลาย มันไม่ใช่สิ่งที่เห็นกันปกติที่พวกเราอ่านเจอ แต่เป็นตัวอย่างของ องค์กรที่สามารถดึงส่วนที่ดีที่สุดของผู้คนและชุมชนออกมา ไม่ใช่แค่เรื่องของบริษัทที่สามารถทำกำไร แต่เป็นเรื่องของบริษัทที่มีผลลัพธ์ที่ดีต่อเนื่องของโลกแม้นว่าจะวัดผล โดยวิธีใดก็ตาม ผู้นำจะได้รับประโยชน์ของการคิดในเรื่องของกฎเหล่านี้และหาทางในการนำไปปฏิบัติใช้ให้ถ่องแท้"

อนุรัตน์จึงภูมิใจที่จะชี้ชวนได้อย่างเต็มปากว่านี่คือหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่ไม่ว่าใครก็ตามควรอ่าน อย่างไรก็ตามเขาก็ยอมรับว่ามันไม่ใช่หนังสือที่อ่านแล้วจะทำความเข้าใจได้อย่างง่ายดาย แต่เขาแนะเคล็ดลับว่าต้องอ่านซ้ำไปซ้ำมาอย่างมากสักสองเที่ยว ถึงจะรู้และเข้าใจแก่นแท้ได้อย่างลึกซึ้ง

"เหมือนเวลาที่เราดูหนังหรือฟังเพลง จะดูหรือฟังแค่รอบเดียวก็อาจยังไม่รู้สึกว่าเพลงเพราะ หรือหนังสนุกแค่ไหน ต้องฟังอีกรอบ ดูอีกรอบ"

ด้วยชื่อหนังสือที่บอกว่าอนาคตกำหนดได้ด้วยกฎทอง 3 ประการ นั้นต้องอาศัยการตีความหมายและการอ่านซ้ำ เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แนวบริหาร จัดการเพียวๆ แต่แฝงแนวปรัชญาซึ่งต้องอาศัยการตีความ

ไม่เชื่อก็ลองอ่านเนื้อความของกฎทอง 3 ข้อในหนังสือเล่มนี้ กฎข้อแรก คือ วิธีการที่คนลงมือปฏิบัติมีความสัมพันธ์กับวิธีการที่สถานการณ์ปรากฏต่อพวกเขา กฎข้อสอง คือวิธีการที่สถานการณ์ปรากฏเกิดขึ้นในสื่อภาษา ส่วน กฎข้อสาม คือภาษาบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ที่มาจากอนาคตปฏิรูปวิธีการที่สถานการณ์ปรากฏต่อผู้คน

ผู้อ่านจำเป็นต้องอ่านพินิจว่ามีความหมายและเชื่อมโยงกันอย่างไร แต่โชคดีที่หนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงเคสที่องค์กรต่างๆ นำเอากฎทอง 3 ประการไปใช้จนประสบความสำเร็จ ทำให้ภาพที่มองเริ่มแรกอาจดูสลัวๆ ก็จะเห็นแจ่มชัดได้มากขึ้น

ซึ่งอนุรัตน์บอกว่ามีหลายเคสในหนังสือเล่มนี้ที่เขาเกิดความประทับใจ อาทิ เคสของหน่วยงานใน "ฮาร์วาร์ดบิสิเนสสคูล" ที่แสดงให้เห็นว่า "คนเก่งใช่ว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหา" ตลอดจนเคสของหญิงชาวอินเดียที่ต้องเผชิญหน้าความทุกข์สองเด้งพร้อมๆ กันคือความเป็นม่ายและลูกในไส้ถูกความตายคร่าไป

เป็นการตอกย้ำว่าหนังสือเล่มนี้มีทางออกให้กับชีวิตของคนเพียงแค่คนเดียวไปจนถึงองค์กรที่มีคนมากมายเป็นร้อยเป็นพัน

"ส่วนใหญ่เวลาที่ประสบปัญหา เรามัวแต่ไปค้นหากุญแจไขความลับกันในที่แจ้ง แต่จริงๆ มันมักอยู่ในที่มืด เวลาแก้ปัญหาเลยมักถูกแก้ไม่ตรงจุด"

กฎทองในหนังสือเล่มเน้นย้ำว่า อนาคตกำหนดได้แน่หากทัศนคติของคนจูนจนมองเห็นแนวทางที่ตรงกัน องค์กรแต่ละแห่งย่อมต้องมีความขัดแย้ง และความเป็นมนุษย์คนหนึ่งย่อมต้องมีอดีตที่ขุ่นมัวเศร้าหมอง

สำคัญที่สุดคือการเปิดใจถึงเรื่องที่เคยติดใจ ผิดใจ และเรื่องที่ซึมเศร้าในอดีต เพราะอนาคตที่สดใสไม่มีวันเป็นไปได้หากคนยังไม่ละทิ้งหรือขจัดเรื่องที่คั่งค้างใจเดิมๆ และก้าวข้ามมันไปได้

หนังสือเล่มนี้บอกว่าผู้นำที่ดีเท่านั้นที่จะช่วยเคลียร์ให้สิ้นทุกสิ่งอย่าง จากการเปิดโอกาสให้คนได้เปิดใจ จากการรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจ

"องค์กรและคนปัจจุบันถูกหล่อหลอมมาจากอดีตจากความรู้และประสบการณ์ ทัศนคติและความเชื่อเกิดจากตีความด้วยวิธีแตกต่างกัน ที่สำคัญเรามักมีวิธีการฟังแบบของเรา และจะฟังในสิ่งที่อยากจะฟังเท่านั้น"

ผู้นำที่ดีจึงต้องฟังแบบเปิดหูเปิดตา อนุรัตน์อธิบายว่าหมายถึง การฟังคนรอบข้างว่าอะไรที่พวกเขาต้องการสื่อถึงและทำความเข้าใจ เพราะหากไม่เข้าใจจะแก้ไขปัญหายากลำบาก ในองค์กรมีพนักงานจำนวนมากเข้าตำรามากคนก็มากความมาก ผู้นำต้องใช้ความอดทนในการฟัง

เขากล่าวต่อว่าอีกความประทับใจในหนังสือเล่มนี้ก็คือคำว่า integrity กฎสามประการนั้นมีเรื่องของการสื่อสารที่หมายรวมถึงคำพูดตลอดไปจนถึงภาษากาย ซึ่งก็มุ่งเน้นให้คำนึงถึงคำคำนี้

"การสื่อสารระหว่างกันอย่างตรงประเด็น ด้วยสัจวาจา หนังสือสอนเรื่องนี้ได้ดี และจะเวิร์คที่สุดผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของคำว่า integrity คือต้องให้เกียรติคำพูด รับผิดชอบคำพูดของตัวเอง การเป็นผู้นำหากทำได้หรือไม่ได้จะต้องสื่อสารให้พนักงานรู้ชัดเจนว่าทำได้ ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และหากทำไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น"

คงเหมือนคำพังเพยหวานเป็นลมขมเป็นยา หนังสืออ่านยากที่สุดช่วยเยียวยารักษาโรคจนหายขาด แถมอนุรัตน์เชื่อว่ากฎทอง 3 ข้อจะไม่มีวันหมดอายุ คงความ "อมตะ" ไม่ว่าจะเดินไปข้างหน้าอีกกี่ยุคสมัย

Source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20100115/95492/อนาคตกำหนดได้ของ-อนุรัตน์--ก้องธรนินทร์.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น