วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ผลึก CSR กระทิงแดงเรดบูล สปิริต


วันที่ 5 สิงหาคม 2552 10:00
โดย : วรนุช เจียมรจนานนท์

ถ้าบอกว่า “โครงการอีสานเขียว” เป็นภาคหนึ่งของตำนานความสำเร็จเจ้าพ่อกระทิงแดง “เฉลียว อยู่วิทยา” ในครั้งกระโน้น


ช่วงรอยต่อของเทคโนโลยี 3G โครงการเพื่อสังคม “เรดบูล สปิริต” อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาคไคลแมกซ์ของตำนาน CSR ในยุคของ “สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา” บุตรสาวคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้อง (ต่างมารดา) ทั้งหมด 11 คน

7 ปีของการอาบเหงื่อต่างน้ำ จากจุดเริ่มต้นโครงการเพื่อสังคม “กระดานดำ กระทิงแดง” ที่เธอเข้ามาหยิบจับ ด้วยพื้นฐานเด็กค่ายเป็นทุนเดิม ทุกวันนี้เธอเปลี่ยนแปลงทางความคิด ไปพร้อมๆ กับการเติบใหญ่ของโครงการรับผิดชอบต่อสังคม CSR

“ความคิดเรายุคแรกๆ เหมือนนักศึกษาเรียนจบ ที่ชอบทำกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท แต่ยังชอบเอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง มองออกไปแล้วชอบคิดว่า สิ่งที่ตัวเองทำถูกที่สุด แต่พอนานไป ได้ทำกิจกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ได้สัมผัสผู้คน ได้เปิดใจรับมากขึ้น”

เธอบอกว่า ใจเหมือนหน้าต่างที่เปิดกว้าง ได้ขยับสายตามามองในมุมที่ไม่เคยมอง มีหลายมุมที่เป็นไปได้ และก็ทำได้ ทั้งดีกว่าและสมบูรณ์แบบมากกว่ามุมเดิมๆ ที่เคยยึดติด กลายเป็นความสุขเข้ามาแทนที่ความยึดมั่นถือมั่นเดิมๆ

“ความสุขไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงในจิตใจ ทำไปแล้วเราสบายใจจังเลย ไม่รู้ทำไม เป็นความสุขที่ได้มา โดยไม่ต้องเอาเงินไปซื้อ ไม่ต้องเอาอะไรไปแลก แค่ลงมือทำ ให้เหงื่อหยด ลำบากลำบน แต่ว่าทำไมเรามีความสุขจังเลย ยังอยากก้าวไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ตั้งใจ มีความมุ่งมั่น และมีพลังถึงวันนี้”

จากสมการง่ายๆ ของโครงการกระดานดำ หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง การให้ทุนสนับสนุนนักศึกษาได้มีส่วนร่วมพัฒนาสังคมระหว่างวัยเรียน ผลักดันให้สุทธิรัตน์ได้เข้าถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากเป็นลำดับ

ยิ่งคลุกคลีก็ยิ่งใกล้ชิด ความคิดอ่านจากเครื่องหมาย “บวก” ก็หมุนตัวกลายมาเป็นเครื่องหมาย “คูณ”

“เหมือนเราคิดไปเรื่อยๆ จากโจทย์ที่หนึ่งกระดานดำ พอลงพื้นที่ก็ไปเจอเรื่องน้ำ เห็นพลังของชุมชน เกิดขึ้นมาได้เพราะมีคนมาช่วย โจทย์ถัดๆ ไป ก็เลยคิดต่อว่า น่าจะเป็นเรื่องจิตอาสา ซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จ และเป็นจุดกำเนิดพลัง”

แนวคิดของเรดบูล สปิริต ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่สอง (2551-2552) จึงเป็นกิจกรรมอาสาสมัครที่ผลักตัวเองออกจากความเป็นค่ายอาสาในมหาวิทยาลัย มาสู่กลุ่มคนทุกเพศทุกวัยในสังคม ที่พยายามรวมตัวกัน ภายใต้ความคิดอ่านในทิศทางเดียวคือ ต้องการแบ่งปันทุกข์สุข และเคารพในความแตกต่าง

“การเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ อาจเริ่มต้นจากคนไม่กี่คน การเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังที่สุด เกิดขึ้นข้างในตัวเรานี่เอง ทุกครั้งที่พลังใจอาสาเกิดขึ้น เราเห็นตัวเราเองเปลี่ยนแปลง เห็นสังคมเปลี่ยนแปลง และทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว”

เธอมองว่า การหยุดองค์กรไว้กับโครงการรับผิดชอบต่อสังคมเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ย่อมต้องใช้เวลายาวนาน แต่ถ้าเลือกที่จะใช้มุมใหม่โดยหยิบเอา “ประสบการณ์” มาเป็นตัวดำเนินการ ย่อมสามารถสร้างคนในสังคมให้มีจิตอาสา “พร้อมใช้งาน” ได้มากขึ้น

“เราเคยเจออาสาสมัครที่เข้มแข็ง เจอชุมชนที่เข้มแข็ง เราอยากเจอคนที่ทำเรื่องนี้ แต่ไม่รู้อยู่แห่งหนตำบลไหน การสร้างโมเดลกิจกรรมเรดบูล สปิริต เป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้คนกลุ่มนี้ รู้สึกได้ว่าการทำเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องไกลตัว และทำได้ทันทีไม่ว่าจะเริ่มต้นจากกี่คนก็ตาม เราก็เลยเปิดประตูตรงนี้ให้กว้าง ถ่ายทอดกิจกรรมอาสาที่เคยทำมา ให้คนที่รู้สึกอยากทำได้กระโดดเข้ามา”

โดย 6 กิจกรรมอาสาที่โครงการเรดบูล สปิริต จัดวางตลอดปีนี้ ได้แก่ 1.โครงการเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต สืบสานพืชพันธุ์พื้นบ้าน หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต 2.โครงการปลูกใจเยาวชนรักป่าหนองเยาะ จ.สุรินทร์ ประสานใจอาสา ฟื้นป่าชุมชน 3.โครงการเด็กชายเล รักษ์ป่าชายเลน ลงแรงอาสา ปลูกป่าชายเลน อ่าวพังงา

4.โครงการอนุรักษ์ลุ่มแม่มูน เขาแผงม้า ร่วมแรงทำฝาย กระจายพันธุ์ไม้ เพื่อเขาแผงม้า 5. โครงการพี่เลี้ยงอาสาเพื่อนักกีฬาพิเศษ หนึ่งวันของพี่เลี้ยงอาสา สร้างประสบการณ์ยิ่งใหญ่ให้คนพิเศษและครอบครัว และ 6.โครงการใจอาสาสู่มหาวิทยาลัย ต่อยอดความคิด นิสิต นักศึกษา สู่กิจกรรมอาสาพัฒนาสังคม

สุทธิรัตน์ให้น้ำหนักกับคำว่า “จิตอาสา” ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นทางความคิด ที่จะลากไปสู่ “ประสบการณ์”

“จิตอาสาคือการไปทำบุญ แต่มองลงลึกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่นั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่าเราไปทำไม ถึงจะเกิดจิตอาสาได้ ไม่ได้เกิดเพราะเพื่อนชวนไป ถ้าเราตัดสินใจลงไปทำสิ่งนั้นแล้ว จะเกิดผลลัพธ์อย่างไร จิตอาสาเป็นคำที่ทุกคนพูดไป แต่สิ่งที่เรดบูล สปิริตลงมือทำและขยายผล เรามองว่าเป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือมากกว่า เป็นเรื่องของสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำ เพื่อขยายผลเพื่อให้ทุกคนมีจิตอาสา ได้พูดบ่อยมากขึ้น ทำบ่อยมากขึ้น และเชื่อมโยงกันมากขึ้น”

ในวัยเรียน เธอรู้สึกค้านในใจเสมอ เมื่อครูบอกว่าสิ่งนั้นผิด สิ่งนี้ถูก เพราะครูเป็นคนบอกซึ่งต่างกับการลองผิดลองถูก สัมผัส และเรียนรู้ด้วยตัวเอง กลายเป็นสิ่งที่เธอฝังใจ และเป็นที่มาของการสร้างประสบการณ์จริงในโครงการ CSR ไม่ว่าเธอหรือใครที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่อาสาสมัครจิตอาสา ทุกคนต้องมีประสบการณ์ตรงกลับไป

“ถ้าเราสัมผัสด้วยตัวเอง เราจะเชื่อสนิทใจ ไม่ต้องบอกให้ทำอะไร การทำโครงการของเรา จะเน้นประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้สึก ไม่ใช่แค่พูดแล้วจะประสบความสำเร็จ เพราะความเชื่อถืออาจจะขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นคนพูด แต่ประสบการณ์จริงจะเป็นใครก็มาเรียนรู้ได้ เมื่อลงมือทำแล้วรู้สึกอย่างไร ได้อะไรกลับไป ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ ทุกคนเอาตะกร้ามาเท่ากันคือใจ แต่ได้สิ่งของกลับไปเต็มหรือเปล่า แต่ละคนได้ไม่เท่ากันแน่นอน”

สุทธิรัตน์หวังใจลึกๆ ว่า เรดบูล สปิริตจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนในสังคม ในแง่ของการขยายผล เอาไปต่อยอดจิตอาสา มากกว่าทำหน้าที่ในการสร้างยอดขาย เพราะอยู่กันคนละเส้นทางเดิน “เราพูดถึงแต่โครงการ ไม่ได้พูดถึงกระทิงแดง” และภารกิจ CSR ก็ยังต่อยอดเชื่อมโยงไปหาผู้คนที่มีจิตอาสาไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่สังคมยังมีคนกลุ่มนี้กระจายตัวอยู่

ผลึก CSR กระทิงแดง มาถึงจุดที่เริ่มไกลออกไปจากจุดยืนองค์กร เป็นการสาวเท้าไปข้างหน้าปลายทางอยู่ที่สังคม ไม่ได้เหลียวกลับมามองตัวเอง

เธอบอกว่า นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านมุมมอง ความคิด และการเปิดรับ

ถ้าบอกว่า “โครงการอีสานเขียว” เป็นภาคหนึ่งของตำนานความสำเร็จเจ้าพ่อกระทิงแดง อาจกล่าวได้ว่า “เรดบูล สปิริต” เป็น CSR ภาคต่อในยุค “สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา”

ที่ไม่มีวันปิดฉากลงง่ายๆ

Source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20090805/66027/ผลึก-CSR-กระทิงแดงเรดบูล-สปิริต.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น