วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
วันที่ 4 กันยายน 2552 05:00
โดย : ชนิตา ภระมรทัต
นิสัยใจคอของแต่ละคนแตกต่างกันไป องค์กรธุรกิจก็เช่นเดียวกันซึ่งมักจะมีค่านิยมเป็นกรอบปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดสไตล์ในแบบของตัวเอง
สำหรับ ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR จำกัด นั้นมีค่านิยมที่ชื่อ "SPEED"
ชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTAR กล่าวว่าได้ใช้เวลาราวๆ 3 เดือนและผ่านการถกเถียงจากพนักงานหลายระดับหลายฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นค่านิยมที่จะกำหนดว่าคนของ PTTAR ควรมีนิสัยใจคออย่างไร ?
เพราะค่านิยมขององค์กรนั้นไม่ใช่จู่ๆ ก็ให้ผู้บริหารเขียนมันขึ้นมาและออกคำสั่งว่า "ทำ" หากแต่พฤติกรรมที่คาดหวังจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อพนักงานทุกคนยอมรับเท่านั้น
คำว่า SPEED ในแต่ละตัวอักษรของคำคำนี้ มีคำที่มีความหมายดีๆ ซ่อนอยู่ แล้วจะทำให้คน PTTAR เป็นคนอย่างไร ?
S มาจาก Social Responsibility& Caring หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
P มาจาก Professionalism หรือ ทำงานแบบมืออาชีพ มีความคิดสร้างสรรค์
E มาจาก Ethics หรือ มีจริยธรรมและธรรมาภิบาล
E มาจาก Engagement หรือผูกพันรักองค์กร
D มาจาก Diversity& Teamwork หรือ การทำงานร่วมกันเป็นทีมและยอมรับฟังความคิดที่แตกต่างเพื่อความสำเร็จร่วมของส่วนรวม
"คำว่า SPEED จำง่าย และทุกคนจำได้ ทุกคนเห็นด้วย รวมถึงยังมีความหมายครอบคลุมในสิ่งที่เราอยากจะเป็น"
และเพื่อให้คำคำนี้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นคุณสมบัติของพนักงานเรื่องนี้จะถูกประเมินอยู่ใน Performance Management Sytem ของ PTTAR อีกด้วย
ซีอีโอท่านนี้บอกว่า "ถ้าองค์กรได้คนดี งานจะดีเอง"
ดังนั้นจำเป็นที่ PTTAR ต้องตอกย้ำคุณสมบัติในคำว่า SPEED อย่างสม่ำเสมอด้วยกิจกรรมมากมายหลายอย่าง อาทิ เดือนมกราคมจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมเรื่อง Engagement พอเดือนกุมภาพันธ์ก็ค่อยจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่อง Ethics จัดทุกเรื่องหมุนวนซ้ำไปซ้ำมา อย่างไรก็ดีในเดือนกันยายนนี้ก็ถึงทีของเรื่อง Social Responsibility & Caring
ซึ่งในเรื่องนี้ PTTAR อยากให้ภาพขององค์กรนั้นเปรียบเป็น "เพื่อนที่แสนดี"
อีกทั้งยังเชื่อว่าในวันนี้ภาพของเพื่อนที่แสนดีนั้นแจ่มชัดมากโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นประเด็นร้อนอย่างมาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยมีการลงมือทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแล้วจำนวนมากและมีความต่อเนื่อง
อาทิ โครงการ พาน้องเข้ามหาวิทยาลัย ,ปลูกต้นไม้ในชุมชน,ทำความสะอาดชายหาด ,สอนวิชาชีพ,รับซื้อน้ำมันเครื่องเก่า ฯลฯ
คนของบริษัทแห่งนี้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนซักถามสารทุกข์สุกดิบ ตลอดจนช่วยเหลือชาวบ้านเรียกได้ว่า "หัวบันไดไม่แห้ง" ตลอดจนลงทุนนับพันล้านเพื่อใช้ เทคโนโลยีการผลิตที่ให้แน่ใจว่าปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบสุดๆ
และเมื่อเร็วนี้ๆ PTTAR ยังได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับประเทศ ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้รับต่อ เนื่องเป็นปีที่ 7
"Social Responsibility ต้องมาจากพนักงานของเราที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง คนของเราต้องเป็นคนดีเป็นคนน่าคบ"
และในอนาคตการเป็นเพื่อนที่ดีของ PTTAR จะไม่เพียงแอ็คชั่นแค่ที่จังหวัดระยองเท่านั้น แต่กำลังวางแผนกับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม ปตท.เพื่อขยาย ความช่วยเหลือให้มีระยะไกลขึ้น เป็นโครงการที่มีสเกลที่ใหญ่ขึ้น และคาดว่าจะมุ่งเน้นการสนับสนุนไปที่สถาบันการศึกษา และโรงพยาบาล
ทั้งนี้ PTTAR นั้นเกิดจากการควบรวม ซึ่ง "ค่านิยม" ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับภารกิจนี้ นั่นเป็นเพราะการควบรวมของ 2 บริษัทไม่ได้หมายถึงการเอาตึกหรือสินค้ามารวมกัน แต่เป็นนำพนักงานที่มี 2 วัฒนธรรมมาทำงานร่วมกัน
ระหว่างบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ATC ซึ่งพนักงานมีสไตล์การทำงานแบบรัฐวิสาหกิจไทย ควบรวมกับบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) หรือ RRC ซึ่งเดิมมีบริษัทข้ามชาติอย่างเชลล์ทำหน้าที่บริหารทำให้พนักงานของบริษัทนี้ติดจะทำงานแบบฝรั่ง
ซึ่งซีอีโอท่านนี้บอกว่า "ความจริงใจ" คือคีย์ซัคเซส ที่สำคัญการควบรวมครั้งนี้ทำสไตล์ไทยๆ คือไม่มีการเลย์ออฟพนักงานแม้แต่คนเดียว
"ผมเน้นการพูดตรงๆ และให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม ผมเน้นเรื่องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่นิยมนั่งสั่งจากข้างบนแต่พยายามฟัง และสามารถตอบพนักงานได้ในทุกๆ เรื่องว่าที่มาที่ไปคืออะไร เพื่อให้เกิดความยอมรับ เพื่อให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ แม้เหนื่อยแต่ผลออกมาดี"
เขาว่าคนคือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ ซึ่งอาจมองดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าเรื่องนี้ปล่อยนานก็จะเป็นแผลลุกลามและรักษาไม่หายขาด ซึ่งถ้าเป็นไฟเพียงแค่เกิดประกายก็ควรรีบเข้าไปดับเสียก่อน
อย่างไรก็ดีสำหรับ PTTAR แล้วคำว่าการควบรวมหมายถึงการ "ซินเนอยี่" ผนึกเพื่อให้เกิดพลังแบบทวีคูณ เพราะผลที่เกิดขึ้นก็คือทำให้ธุรกิจด้านอะโรเมติกส์มีกำลังการผลิตเป็นที่ 7 ในเอเชีย ส่วนธุรกิจโรงกลั่นนั้นมีกำลังผลิตถึงวันละ 228,000 บาร์เรลซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของบริษัทกลุ่ม ปตท. ทั้งหมด
จนสร้างความมั่นใจต่อวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ว่า "PTTAR จะต้องเป็นบริษัทผู้ผลิตอะโรเมติกส์และน้ำมันสำเร็จรูปชั้นนำของเอเชียที่มีธุรกิจต่อเนื่องไปสู่ปิโตรเคมีขั้นกลางถึงขั้นปลายและพลังงานทดแทน"
และความสำเร็จของการควบรวมในครั้งนี้ยังเลื่องลือไปไกล กระทั่งเวทีซีอีโอฟอรั่ม ประเทศสิงคโปร์ยังต้องส่งเทียบเชิญซีอีโอท่านนี้ ให้เดินทางไปถ่ายทอดเคล็ดลับอีกด้วย
Source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20090904/74560/ซีอีโอ-PTTAR--ในภารกิจถอดรหัส--SPEED.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น