วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

จารุนันท์ อิทธิอาวัชกุล คะแนนต่ำสิบที่ชิน คอร์ปฯ


โดย : ชนิตา ภระมรทัต วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 01:00

เพราะวัฒนธรรมของ แต่ละองค์กรนั้น มีลักษณะมีความเร้นลับเฉพาะตัว ที่สำคัญ มันไม่สามารถใช้เวลาเพียงข้ามคืน เพื่อศึกษาและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง

ด้วยเหตุผลนี้ก็เกินพอ ที่เป็นใจให้ จารุนันท์ อิทธิอาวัชกุล ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น

เข้าคอนเซปต์ คนนอกหรือจะรู้และเจนจัดดีเท่าคนใน และเป็นรับภาระที่ใหญ่ขึ้นจากเดิมที่เคยบริหารงาน HR ให้กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งบริษัทในเครือเท่านั้น

จารุนันท์ หรือ "พี่หมิม" ของคนในแวดวง HR บอกว่าความท้าทายมีแน่ หากแต่ถือเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ของเธอที่จะมีโอกาสได้ใช้สมองทั้งซีกขวาและซีกซ้ายได้อย่างสมดุล

"อยู่ที่เอไอเอสทำแต่ HRD ใช้สมองซีกขวาแบบเต็มเหนี่ยว แบบติสท์สุดๆ ครีเอทงานยิ่งกว่าละครคุณบอยเสียอีก เป็นอีเวนท์ออร์แกไนเซอร์เอง ฝันฟุ้ง มันเมาเข้าทางเราเลยตอนนั้น แต่พอมาทำงานใหญ่ขึ้นต้องใช้สมองซีกซ้ายในการวิเคราะห์ เพราะต้องหาที่มาที่ไป ทำอะไรต้องเป็นเหตุเป็นผลอธิบายได้ จากที่เคยทำงานแบบลุยไปข้างหน้าอย่างเดียวก็ต้องหันมองข้างหลังด้วย และต้องทำงานเป็นทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ"

พี่หมิมบอกว่าหากคะแนนในงานเต็มสิบเธอจะให้คะแนนตัวเองแค่หก เนื่องจากชีวิตการทำงานที่ผ่านมาได้เว้นช่วงกับงาน HRM มานาน เปรียบก็เหมือนเด็กที่เรียนยังไม่จบต้องขยันและกลับมาเรียนรู้ ทบทวนศาสตร์ด้านนี้อย่างเข้มข้น จริงจัง

เธอบอกว่าภารกิจใหม่มีจุดระวังมากมาย จุดหลักคือ แผนงานด้าน HR จากนี้ต้องคิดครอบคลุมและใช้ได้กับพนักงานทั้งกรุ๊ป

จากงานที่ต้องวัดตัวพิถีพิถันตัดเสื้อให้เหมาะเจาะแค่พนักงานคนหนึ่งคน ใด กลายกลับมาตัดเสื้อโหล "ไซส์ฟรีสไตล์" สำหรับพนักงานที่ไม่ว่าจะต่างจิตต่างใจ ต่างสไตล์ ต่างไซส์ ก็ใส่ได้ โดยไม่ "หลวม" หรือไม่ "คับ" จนเกินไป หรือพอจะเทเลอร์เมดได้ก็ลองทำ

"บริษัทในเครือนั้นทำธุรกิจ มีภารกิจหน้าที่ และกำไร ที่ไม่เหมือนกัน ก็ท้าทายพอควร แต่ถ้าคิดในมุมง่ายคือเราก็เคยดูงานเรื่องคนที่เอไอเอสมาก่อน ทำ อีกนิดน่า..เราคงทำได้โดยไม่จนเหนื่อย และไม่ยากจนเกินไปนัก"

ผู้บริหารท่านนี้เลยปักธงไว้ตรงจุดสตาร์ท ว่าต้องบริหารความแตกต่างที่มีโดยการหลอมรวม แลกเปลี่ยนจุดเด่นของแต่ละธุรกิจให้เชื่อมโยงกัน และสร้างให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมืออันจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน เช่น บริการใหม่ สินค้าใหม่ที่มีคุณภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ก็ด้วยการขับเคลื่อนแกนหลักของงาน HR ทั้ง 4 ด้าน คือ 1. attraction 2.retention 3.development 4.engagement ไปอย่างพร้อมเพรียงกัน

เพราะคน ย่อมไม่เคยต้องการอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งแต่กลับต้องการอะไรหลายต่อหลายอย่าง ในเวลาเดียวกัน จึงเป็นเรื่ององค์รวม ซึ่งคงจะทำแค่เรื่องเดียวหรือทำเรื่องใดก่อนหลังคงเป็นไปไม่ได้

ซึ่งบางครั้งหากแผนเวิร์คก็กลายเป็นส่งผลดีแบบดับเบิ้ล เช่น การออกกติกาใหม่โดยกำหนดให้พนักงานต้องลาหยุดพักผ่อนประจำปีอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 5 วัน เพื่อมุ่งในเรื่อง engagement เท่านั้น ก็กลายเป็นได้ประโยชน์อีกหลายเรื่องหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์ความโปร่งใสในหน้าที่ ทำให้บริษัทตรวจสอบได้ว่า ..ที่ผ่านมาคุณนั่งทับอะไรไว้หรือไม่ /code of conduct คุณเป็นอย่างไร /Successor ในฝ่ายในแผนกนี้มีจริงหรือ/ หัวหน้าหรือลูกน้องเก่งจริงหรือไม่เมื่ออีกฝ่ายไม่ได้ช่วยทำงาน ฯลฯ

"พี่หนักใจกับเรื่อง engagement มากที่สุด เพราะการเป็น Employer of Choice เป็นโจทย์ยาก ตามทฤษฎีแล้ว engagement หมายถึงการที่เราทำให้พนักงานมุ่งมั่นทำงานแบบเกินหน้าที่ และจะทำให้เกิดขึ้นได้ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ งานต้องน่าสนใจ ต้องได้รับการยกย่องเชิดชู ได้รับการพัฒนาความความรู้ความสามารถ และได้รับผลตอบแทนที่เข้าท่า"

สุภาษิตว่า มากคนก็มากความ แต่พี่หมิมบอกต้องพยายามเดินหน้าทำไปและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะมันจะตกผลึกจนกลายเป็นวัฒนธรรมดีๆ ขององค์กรที่สุด

ซึ่งค่านิยมซึ่งเป็นธรรมนูญหลักขององค์กรนี้ก็คือ Triple I ที่ย่อมาจากคำที่มีตัวไอนำหน้าได้แก่ Individual Talents, Idea Generations และ Infinite Changes

"Triple I เป็นลองเทอม ขณะที่เราก็อาจมีการปรับคุณลักษณะของตัวไอแต่ละตัวให้เข้าหรือเหมาะกับ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้สอดคล้องกับปีนี้ที่ชิน คอร์ปประกาศเป็นปี growing with innovation"

ด้วยยุคนี้การแข่งขันจะพิสูจน์ผลชนะหรือแพ้กันที่ ใครคิดก่อน ใครคิดเก่ง ใครคิดเร็ว ดังนั้นนวัตกรรมจึงกลายเป็นคำตอบเลยต้องโฟกัสแบบสุดๆ แผนของจารุนันท์ในเรื่องนี้คือการทำแบบ Top-down หรือเสี่ยสั่งมา และ Bottom-up ลูกน้องช่วยคิด หรือสูตร "ทุกคนช่วยกันคิด" โดยมีรางวัลจูงใจสำหรับความคิดแจ่มๆ แถมให้ด้วย

ส่วนคะแนนจะสอบได้เต็มสิบหรือไม่ พี่หมิมบอกว่าขอเวลา 3 ปี (แต่ฝีมือระดับนี้เห็นทีคง 3 เดือนก็เข้าที่ และเข้าท่าแล้ว)

Source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20100513/114952/จารุนันท์ อิทธิอาวัชกุล คะแนนต่ำสิบที่ชิน คอร์ปฯ.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น