วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553
4P's New Dimension
เมื่อคัมภีร์การตลาดเปลี่ยนไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
การเจาะตลาดกลุ่ม GEN Y ต้องใช้ 4P แบบไหนถึงจะโดนใจ
มองการทำตลาด วิธีคิด ในสายค้าปลีก กลยุทธ์แบบไหนจึงกระตุ้นอารมณ์ชอป
กลยุทธ์การเข้าถึงผู้บริโภคในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก 'P' แบบไหนมีศักยภาพทำตลาดได้ดี
กลยุทธ์ทางการตลาดนั้นมีอยู่มากมาย แต่ที่เป็นที่รู้จักและเป็นพื้นฐานที่สุด เพราะดูเหมือนจะเป็นบทแรกๆที่นักศึกษา หรือผู้ที่ริเริ่ม 'การตลาด' รู้จัก ได้เรียนรู้ และยึดถือกันมาเป็นคัมภีร์การตลาด คือการใช้ 4P's (Product, Price, Place และ Promotion)
เมื่อกาลเวลาผ่านไป หลายคนบอกว่าลำพังแค่ 4P's ไม่สามารถตอบสนองผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ไม่ว่าจะเป็น P ตัวแรก ที่นักการตลาดหลายคนบอกว่าสมัยนี้จุดเริ่มต้นของธุรกิจต้องลืมฝ่ายผลิตไปก่อน คืออย่าเพิ่งเริ่มจากที่บริษัทเคยมองแบบเดิมว่าจะผลิตอะไรให้ผู้บริโภค(Product Oriented) แต่ต้องเริ่มมองที่ผู้บริโภคว่าต้องการอะไร (Consumer Oriented) หรือที่หลายคนชอบพูดว่ามองผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง หรือ Consumer Centric ที่นักการตลาดต้องศึกษาผู้บริโภคอย่างจริงจัง ต้องมีข้อมูลผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง ที่เรียกว่า Consumer Insight
เป็นมุมมองจาก Product แบบเดิม มาสู่การมองที่ Consumer และไม่ใช่แค่ P ตัวแรกเท่านั้น แต่ P ตัวอื่นๆก็ถูกปรับมุมในการนำเสนอเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคใหม่ จาก Price มาเป็น Cost จาก Place มาเป็น Convenience และจาก Promotion มาเป็น Communication หรือที่รู้จักกันดีว่า 4P's นัยว่าเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ดีกว่า และประหยัดต้นทุนในการเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า
แต่แนวคิดเรื่อง4P's ของนักการตลาดช่างคิดก็ยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ หลายต่อหลายคนมีแนวคิดต่อ 4P's ในมุมมองใหม่ แตกหน่อต่อยอดไปจากเดิมหลากหลายเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในยุคดิจิตอล ในยุคที่มีสื่อเข้าถึงผู้บริโภคนับร้อยนับพันช่องทาง ในยุค Social Networking ที่กำลังเบิกบาน ในยุคที่ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมาก ในยุคที่มีช่องทางการจำหน่ายเทียบถึงห้องนอน และอื่นๆ
และนี่คือมุมมองของนักการตลาดต่อ 4P's ที่น่าจะเป็นในยุคปัจจุบัน
ยุคตลาดดิจิตอล
4 การสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต
ชาติชาย พยุหนาวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคล และเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย ให้ทัศนะว่า ในยุคที่การตลาดเป็นดิจิตอลก็ต้องใช้สื่อกลางผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีศักยภาพทำการตลาดได้ถึง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.Permission คือผู้บริโภคสามารถที่จะพิจารณารับหรือไม่รับในการส่งข้อมูลการตลาด หรือรับให้มีความถี่มากน้อยแค่ไหนก็ได้ 2.Participation คือการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ Social Networking ต่างๆ สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็น สามารถ update ข้อมูลต่างๆไปใช้ได้ อย่างเช่นผู้ใช้ Facebook จำนวนกว่า 250 ล้านคน เป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 30-40 ปี มีความน่าเชื่อถือก็เป็นโอกาสที่จะเข้ามาสื่อสารกับชุมชนกลุ่มนี้ 3.Particulars เราสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าเป้าหมาย เพื่อใช้ในการช่วยตัดสินใจ รายละเอียดในการทำการตลาดในลูกค้ากลุ่มนี้ 4.Personalization ทำให้เราทราบว่าเขาชอบอะไร พูดคุยอะไรกัน สนใจเรื่องใด ทำให้เราทำการตลาดได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
กูรูมะกันเผย 4P สายพันธุ์ล่าสุด
เกาะติดพิชิตใจคนเจนวาย
กลุ่มเป้าหมายสำคัญของโลกการตลาดในปัจจุบัน หลีกไม่ได้ที่ต้องกล่าวถึงกลุ่มเจนวาย คนรุ่นใหม่ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมโลก และทำให้นักการตลาดก็ต้องพลิกกลยุทธ์การตลาดเพื่อรับมือ
เจนวาย (Generation Y) คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2523-2543 อายุ 9-29 ปี เติบโตมาพร้อมกับสื่อคอมพิวเตอร์ โลกอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีไอที เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน มีลักษณะนิสัยชอบแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีโลกส่วนตัว แตกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ไม่ชอบอยู่ในกรอบและไม่ชอบเงื่อนไข ต้องการความชัดเจนในการทำงานว่า สิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและต่อหน่วยงานอย่างไร สามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน เช่น การบริโภคสื่อพร้อมกันทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต
ดังนั้นสินค้าหรือบริการที่จะเจาะเข้าถึงกลุ่มเจนวาย จะยังคงใช้แนวคิดการตลาด 4P ที่คุ้นเคย อันประกอบด้วย Product, Price, Place และ Promotion ตามความคุ้นเคยที่ใช้กันมายาวนานกว่า 50 ปี มารับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของการตลาด ไม่ว่าจะเป็นด้านมีเดีย, การเติบโตของธุรกิจค้าปลีก ที่ผุดช่องทางการค้าใหม่ๆขึ้นอย่างรวดเร็ว อำนาจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในการเลือกซื้อสินค้า และการแตกตัวของกลุ่มผู้บริโภคลึกลงเป็น Fragmentation ที่ซอยไลฟ์สไตล์ความสนใจของผู้คนออกเป็นกลุ่มย่อยมากขึ้น โดยมีตัวเร่งให้เกิดปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด คือ เทคโนโลยี คงช่วยอะไรไม่ได้
จากรายงานเรื่อง 'Adaptive Marketing: Rethinking Your Approach to Branding in the Digital Age' ของ Forrester Research สหรัฐอเมริกา มองแนวคิดการตลาด 4P สายพันธุ์ใหม่ จากสิ่งที่นักการตลาดกว่าครึ่งศตวรรษคุ้นเคย เปลี่ยน4Pเป็น
Permission การสร้างสิทธิ์ให้แบรนด์ เพื่อให้ได้รับอนุญาตจากผู้บริโภคในการติดต่อไป
Proximity การสร้างความใกล้ชิดเข้าถึงผู้บริโภค
Perception การสร้างแนวคิดมุมมองต่อแบรนด์
Participation การสร้างส่วนร่วมกับผู้บริโภค
พร้อมเสนอแนวคิดการเปลี่ยนบทบาทของ Brand Marketing หรือผู้จัดการผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้เป็น Brand Advocates หรือผู้ให้ความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ รองรับการปรับตัวของการทำตลาดและการสร้างแบรนด์เพื่อรับกับเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่
แนวคิดประกอบที่สำคัญคือ นักการตลาดในปัจจุบันต้องทันต่อความเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะตัดสินใจปรับแผนอย่างชาญฉลาดบนข้อมูลที่ได้มาจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและทันท่วงที เพราะผลลัพธ์ที่นักการตลาดจะได้ก็คือ สินค้าและบริการจะได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มย่อยๆ ที่เป็นผู้นำความคิด และมีอิทธิพลอย่างมากต่อกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง หรือแมส แม้ว่าการปรับแผนนี้จะหมายถึงการตัดสินใจนอกกรอบการวางแผนสื่อโฆษณาที่ทำกันมานานจนยึดติดเป็นประเพณีก็ตาม
นอกจากนี้แนวคิดในการเป็น Customer Centric ที่ยึดเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง สินค้าหรือบริการจะต้องพยายามสร้างการมีส่วนร่วม สร้างกิจกรรมระหว่างสินค้ากับกลุ่มเป้าหมายเจนวาย ปรับบทบาทจากการสื่อสารทางเดียวมาเป็นการสื่อสารระหว่างแบรนด์โต้ตอบและสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย ดังตัวอย่างเช่น Facebook ถูกออกแบบให้เป็น Social Network Site เพื่อให้ผู้คนติดต่อสื่อสารกัน แชต เล่นเกม โพสต์รูปภาพ คลิปวิดีโอ ซึ่งเมื่อไหร่ที่แบรนด์สินค้ามองหากลยุทธ์ในการทำ Social Network กับผู้บริโภค Facebook ก็จะกลายเป็น Site ที่จะสร้าง Brand-based Content และเป็น Fan Site ที่จะเชื่อมโยงประสบการณ์ของแบรนด์เข้ากับผู้บริโภค รวมถึงจะเป็นที่ที่ผู้บริโภคจะสามารถสร้างเนื้อหาของตัวเองลงไปได้
ไลฟ์สไตล์ของคนเจนวายที่แตกย่อยจนเป็น Fragmentation ทำให้นักการตลาดอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเอเยนซีในการวางแผนสื่อสารการตลาด เพราะตลาดที่ถูกซอยจนเป็นกลุ่มย่อย หากนักการตลาดเข้าใจถึงไลฟ์สไตล์ในคนกลุ่มนี้ ก็สามารถสื่อสารแบรนด์ได้โดยตรง ด้วยเครื่องมือสื่อสารการตลาดที่มีอยู่ 360 องศา ทั้งอะโบฟเดอะไลน์ และบีโลว์เดอะไลน์ การจัดอีเวนต์ รวมถึงสื่อใหม่ๆ อย่างออนไลน์ และโมบาย ไม่จำเป็นต้องใช้เอเยนซีมาวางแผนสื่อเพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างให้มากที่สุดเหมือนก่อน
เมื่อการสื่อสารการตลาดในปัจจุบัน ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงความสามารถของนักการตลาดในการที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และพึงพอใจในกิจกรรมต่างๆ ที่แบรนด์นำเสนอ จึงน่าจะถึงเวลาที่แนวคิดใหม่ของ 4P จะสร้างปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับนักการตลาดที่จะนำไปใช้ รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เหนือประเพณีการทำงานแบบเดิมๆ ที่มุ่งเน้นแต่เรื่องของการวางแผนด้วยสปอตโฆษณา และการจองพื้นที่สื่อ หวังที่จะใช้เป็นเครื่องมือกวาดกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างหรือแมส ไม่ใช่คำตอบในการเจาะเข้าสู่คนเจนวาย อันเป็นขุมทรัพย์แห่งวันนี้ และอนาคตของนักการตลาดพยามยามไขกันอยู่
พารากอน ชู New 4P
มัดใจลูกค้า กระตุ้นอารมณ์ชอป
ในสมรภูมิค้าปลีกที่มีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคค่อนข้างมากส่งผลให้บรรดาศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้าต้องมีการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง Marketing Mix ที่ประกอบด้วย 4P ได้แก่ Product, Price, Place, Promotion ดูจะไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงผู้บริโภคและต่อกรกับคู่แข่ง ดังนั้นจึงมีการใส่แนวคิดใหม่ในการทำการตลาดเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับส่วนผสมทางการตลาด
เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ผู้บริหารอาวุโสสายการตลาด สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ ได้ให้ทัศนะกับ 'ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์' ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น มีวิถีชีวิตแบบ Hi Speed มากขึ้น รับรู้เทรนด์ต่างๆจากทั่วโลก และมีความต้องการที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะไม่มีความภักดีต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเป็นพิเศษ และไม่บริโภคสินค้าตามกระแสแฟชั่น แต่จะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ต้องการความเป็นยูนิก เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้นจะแสวงหาสินค้าที่แมตช์กับตัวเอง
ส่งผลให้ต้องมีการศึกษาความต้องการและเข้าใจวิถีการใช้ชีวิตของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ Loyalty Program ผ่านบัตรสมาชิก M Card เพื่อตอบสนองความต้องการได้ตรงกับความต้องการของสมาชิกแต่ละราย นอกจากนี้ยังเป็นความพยายามในการสร้างความภักดีให้เกิดขึ้น เนื่องจากการแข่งขันในศูนย์การค้าใจกลางกรุง จากแยกปทุมวัน ถึงแยกพร้อมพงษ์ มีการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับเป็นแนวเส้นทางรถไฟฟ้าทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกเดินทางไปห้างต่างๆได้สะดวก ทว่าห้างใด สามารถดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ก่อน หรือเข้ามาแล้วอยู่ได้นานกว่าก็ย่อมมีโอกาสสร้างยอดขายที่มากกว่า ซึ่งลอยัลตี้โปรแกรมจะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดให้ผู้บริโภคคิดถึงศูนย์การค้านั้นๆเป็นแห่งแรก
กลยุทธ์การตลาดนอกเหนือจาก 4'P ที่ใช้กันมานาน วันนี้สยามพารากอนมีการใส่ลูกเล่นให้กับ 4'P ซึ่งได้แก่ People, Pride, a Place like Home, Passion, Professional และ Preference โดย People เป็นเรื่องของบุคลากรโดยเฉพาะด้านการขายซึ่งถือเป็นจุดที่มีความสำคัญ เพราะแม้ผู้บริโภคจะมีการศึกษาข้อมูลมาอย่างดี แต่ส่วนใหญ่มักตัดสินใจเด็ดขาดที่ Final Touch หรือจุดขาย โดยการแนะนำของพนักงานขาย People ที่มี Art of Service จะช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค
ส่วน Pride เป็นเรื่องของ Emotional Marketing แต่ละศูนย์การค้าต่างมีโพสิชันนิ่งที่แตกต่างกัน อารมณ์ในการเดินที่ต่างๆก็แตกต่างกัน สยามพารากอน พยายามที่จะสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจให้กับผู้บริโภคที่เดินในศูนย์ ที่มีองค์ประกอบของ Product Mix และการตกแต่งบรรยากาศที่สะท้อนกลับไปสู่โพสิชันนิ่งของศูนย์ฯ ทำให้ผู้บริโภคที่เดินในศูนย์ฯมีความสุข ภาคภูมิใจ ทำให้สยามพารากอนเป็นเสมือนบ้านหลังที่ 2 ที่ผู้บริโภคจะมาใช้ชีวิตในวันหยุดพักผ่อน เรียกว่าเป็น a Place like Home และเมื่อเดินแล้วพอใจก็อยากพาครอบครัวมาเดิน รวมถึงการ Preference หรือการบอกต่อซึ่งช่วยขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ
ขณะที่ Passion เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้บริโภคที่เข้ามาในศูนย์ฯแล้วเกิดความต้องการอยากมี อยากได้ อยากชอปปิ้ง ซึ่งปัจจุบันทั้งห้างและศูนย์การค้าหลายแห่งพยายามสร้างบรรยากาศในห้างเพื่อกระตุ้นอารมณ์ในการชอปปิ้ง ทั้งการตกแต่งสถานที่ การจัดกิจกรรมการตลาด ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายแบบ Unplan หรือการใช้จ่ายโดยไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้ามากขึ้น
'P ต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการเล่นกับคน ทำให้เราต้องมีการทำงานที่หนักขึ้น และจะเป็น One On One Marketing เพราะแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ และมีสังคมร่วมกับเขา' เกรียงศักดิ์ กล่าว
เดอะมอลล์ งัด 5C+3R
ขณะที่เดอะมอลล์หลังจากรีโนเวตห้างไปหลายสาขาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดมีการชูแผนการตลาดใหม่ 5C+3R ได้แก่ Creative, Concentration, Combination, Connection, CSR และ Head, Heart, Hand
โดย Creative เป็นการทำการตลาดให้มีความแตกต่าง ด้วยการเสริม Big Idea เทั้งในการคิดแคมเปญและกิจกรรม โดยมีรายการ เดอะมอลล์, ดิ เอ็มโพเรียมและสยามพารากอนมิดไนท์ เซลล์ รอแยล เป็น Role Model สำคัญในการวางแนวทาง
ส่วน Concentration เน้นเรื่องการทำ CRM และ CEM ที่เข้มข้นผ่านบัตร M Card และ Platinum M Card เป็นเครื่องมือสร้างความภักดีให้กับฐานลูกค้าซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกบัตรมากกว่า 2 ล้านคน โดยปีนี้จะเน้นที่การบริหาร จัดการกับข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่ (Data Mining)
'ปีที่ผ่านมาเรียกว่าเป็นการขอเป็นแฟน แต่ปีนี้จะขอแต่งงานวางแผนครอบครัวกันเลยทีเดียว (Customer Engagement) ซึ่งหลังจากทดลองครั้งแรกกับ ทริปชมหมีแพนด้าที่เชียงใหม่ ลูกค้ากลุ่มที่ไปกับเรามีความผูกพัน ติดตามข้อมูลเป็นแฟนคลับขาประจำของเดอะมอลล์, ดิ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน ตลอดเวลา มีข้อตำหนิติชมเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน' ชำนาญ เมธปรีชากุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายการตลาด เดอะมอลล์ กรุ๊ป กล่าว
สำหรับ Combination การบริหารจัดการในเรื่องของการทำกิจกรรม, รายการส่งเสริมการขายในแต่ละ Category ให้เป็นไปในทิศทาง (Direction) เดียวกัน เพื่อสร้าง Impact หรือการทำให้แต่ละกิจกรรมได้รับกระแสตอบรับที่ดี
ขณะเดียวกันก็จะมีการทำ Connection อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการบริหาร Strategic Alliance เพื่อกำหนดแคมเปญหรือกิจกรรมต่างๆร่วมกับพันธมิตรคู่ค้า ซึ่งสามารถช่วยได้ในการทำธุรกิจในยุคที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
C สุดท้ายเป็นเรื่อง CSR โดยในปีนี้ทุกคนจะเห็น CSR ของเดอะมอลล์ผ่านการทำ Event Marketing ที่มี Direction ชัดเจนขึ้น ทั้งในเรื่อง Green Project, White Project และจะเพิ่มในส่วนของ Blue Project ที่พัฒนาความสามารถสอดคล้องด้านวัฒนธรรม, ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการศึกษา ซึ่งอาจมีกิจกรรมใหม่ๆเข้ามาช่วยสร้างสีสันวงการค้าปลีกมากขึ้น
นอกจากกลยุทธ์ที่ใช้กับลูกค้า และพันธมิตรแล้ว เดอะมอลล์ยังมีการจัดการภายในผ่านกลยุทธ์ 3Rได้แก่ Head การใช้สมองให้มากขึ้น, Heart ใช้หัวใจและความรู้สึก ตลอดจน Hand ลงมือปฏิบัติ
Product Price Place Promotion
อมตะพื้นฐาน 4P
แน่นอนว่าในโลกการตลาดที่มีการแข่งขันสูง เจ้าของแบรนด์จะต้องคิดค้นและพลิกแพลงกลยุทธ์ทุกรูปแบบ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์และความต้องการที่แตกต่างไปจากเดิม ที่สำคัญ รู้จักและฉลาดเลือกมากยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น เครื่องมือเดิมๆที่ใช้กันอยู่อาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ กิจธวัช ฤทธีราวี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์ ในยุคนี้ นอกเหนือจาก 4P ที่นักการตลาดคุ้นเคยแล้ว 'เทคโนโลยี' คือ เครื่องมือที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องมี
ในโลกของธุรกิจวันนี้ เทคโนโลยี คือ เทรนด์ระยะยาวที่มั่นใจได้ว่าจะกลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญตัวหนึ่งของการทำธุรกิจไปอีกอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งต่างจากกลยุทธ์ตัวอื่นที่อาจเข้ามาเป็นเพียงเทรนด์ระยะสั้นๆ 1-2 ปีแล้วถูกลดความสำคัญหรือแทนที่ด้วยเครื่องมือตัวใหม่ ผู้จัดการทั่วไปแอมเวย์ อธิบายว่า เทคโนโลยี จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ให้กับลุกค้าได้ครอบคลุมที่สุด เพราะนอกจากสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคแล้ว เทคโนโลยี ยังเป็นตัวช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคด้วย
'ใคร หรือธุรกิจใดที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ ก็จะเป็น The Winner' เป็นคำกล่าวของ กิจธวัช
แม้ว่านักการตลาดจะพยายามคิดค้นหรือสร้างสรรค์เทรนด์การตลาดใหม่ๆขึ้นมา แต่นั่น ก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยที่เกิดจากการต่อยอด ซึ่งอาจกลายเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาไม่นาน และอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้กับบางธุรกิจเท่านั้น ดังนั้น Product Price Place Promotion หรือ 4P ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี จึงยังเป็นฐานสำคัญที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องมี ไม่ว่าโลกของการตลาดจะพัฒนาไปสู่ขั้นใดก็ตาม
Source: http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?newsID=9530000012955
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น