วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

CP All + PIT = ธุรกิจองค์ความรู้

วันที่ 10 สิงหาคม 2553 05:00
โดย : วรนุช เจียมรจนานนท์

ซีพี ออลล์ หยิบองค์ความรู้ที่สะสมอยู่ในธุรกิจ มาสร้างพลังขับเคลื่อนในสถานศึกษา สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PIT)

ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น หยิบเอาองค์ความรู้ที่สะสมอยู่ในธุรกิจ มาสร้างเป็นพลังขับเคลื่อนในสถานศึกษา สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PIT) ซึ่งกำลังเข้าสู่ขวบปีที่ 4 ของการดำเนินงาน
จุดยืนของมหาวิทยาลัยที่ เปิดสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทแห่งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี บอกว่า เดินไปในทิศทางเดียวกับมหาวิทยาลัยแฮมเบอร์เกอร์ ของแมคโดนัลด์ และมหาวิทยาลัยไดเอะของบริษัทเอกชนญี่ปุ่น คือเป็น corporate university หรือธุรกิจที่กระโดดเข้ามาสนับสนุนทางด้านการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพัฒนาคนของประเทศ
“คำว่าทรัพยากรมนุษย์ คือกุญแจดอกสำคัญที่สุด ที่จะขยายไปสู่ความสำเร็จในทุกเรื่อง หลายประเทศไม่มีทรัพยากรเลย เราดูอย่างสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นมีทรัพยากรที่ไหน แต่ทำไมเขาถึงสามารถพัฒนาประเทศได้ดี ก็เพราะเขามีทรัพยากรมนุษย์ที่ดี ด้วยเหตุนี้ภาคธุรกิจจึงเล็งเห็นว่า HR สำคัญมาก และจะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อเรามีระบบการศึกษา ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างคนเหล่านี้”
ดร.สมภพเข้ามานั่งเก้าอี้ อธิการบดีคนที่สองได้เดือนเศษ (รับตำแหน่ง 1 ก.ค.2553) หลังจากที่เขาใช้เวลาตัดสินใจอยู่พักใหญ่ และเลือกที่จะเกษียณตัวเองก่อนหมดอายุราชการในมหาวิทยาลัยของรัฐ ด้วยการหันมาสร้างความท้าทายในชีวิตอีกครั้งช่วงวัยตกผลึก
เขาบอกว่า งานบริหารใน PIT ไม่ได้หลุดไปจากงานหลักที่เคยทำมาตลอด 32 ปี และจริงๆ แล้ว เขาไม่ใช่คนอื่นคนไกลจากองค์กร CP All เพราะที่ผ่านมา ก็ดำรงตำแหน่งกรรมการสภา สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ตั้งแต่ก่อตั้ง
และ อีกเหตุผลหนึ่งที่เขาบอกว่า ไม่ค่อยมีใครรู้คือ คนส่วนใหญ่มักติดภาพลักษณ์ของเขาในแง่ที่เป็นนักวิชาการทางด้านการเงิน และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน แต่จริงๆ แล้วโดยส่วนตัวเขาสนใจในงานวิจัยธุรกิจอาหารมานาน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ การมาเชื่อมต่อแนวคิดงานวิจัยจากทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นจุดแข็งของธุรกิจอาหารในเครือซีพี ถือเป็นการทะลุทะลวงข้อจำกัดเดิมๆ มาสู่มาตรฐานใหม่ของการสร้างคนป้อนธุรกิจ และนำองค์ความรู้ที่สะสมอย่างต่อเนื่องยาวนานขององค์กรมาสู่สายตาคนนอก
ซี พี ออลล์เป็นบริษัทแห่งแรก ที่สถาปนาตัวเองจากธุรกิจสู่ความเป็นสถาบัน ด้วยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเป็นของตัวเอง และระหว่างนี้ก็มีองค์กรแถวหน้าบางแห่ง อย่างเช่น ปตท. ก็พยายามจะเบนเข็มไปหาแนวทางเดียวกันนี้ ด้วยการร่างหลักสูตรสาขาวิชาปิโตรเคมี ผลิตคนที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะป้อนธุรกิจ
เขาอธิบายว่า ข้อดีของการวางจุดยืนเป็น corporate university คือ นอกจากเหตุผลหลักเรื่องการสร้างคนในมหภาคแล้ว ภาคธุรกิจยังสามารถสร้างองค์ความรู้และภูมิปัญญาใหม่ๆ โดยใช้สถาบันการศึกษาเป็นห้องแล็บเพื่อการวิจัยพัฒนา
ขณะเดียวกัน การลำเลียงองค์ความรู้ที่อัพเดท 24 ชั่วโมง จากธุรกิจที่มีจำนวนสาขาเซเว่น อีเลฟเว่น มากถึง 6 พันแห่ง จนมีคำพูดติดตลกว่า นอกจากวัดแล้วไม่มีธุรกิจใดมีสาขามากที่สุดเท่ากับซีพี ออลล์ ด้วยขนาดของมูลค่ารายได้ที่สามารถบ่งชี้ถึง GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) จะนำไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ของการสร้างขีดความสามารถในระดับประเทศขึ้นมา
“แต่ ไหนแต่ไรมาบ้านเราชอบทำตัวเป็น จับกัง economy หรือ เศรษฐกิจที่เน้นขายแรงงานเป็นหลัก ตอนนี้ประเทศอื่นพยายามแซงหน้าความเป็นจับกังของเรา ด้วยค่าแรงที่ถูกกว่า อย่าง เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย ทางเดียวที่เราจะไปต่อได้คือ เดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจเศรษฐกิจองค์ความรู้และปัญญา (Knowledge-based และ Wisdom-based economy) หากินกับสมอง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ หรือมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ”
และในก้าวจังหวะที่ประเทศไทยกำลังผันตัวเองมาสู่ธุรกิจภาคบริการ (Service-based Economic) การที่ซีพี ออลล์และบริษัทในเครือซีพีมีความแข็งแกร่งเป็นทุนในธุรกิจอาหาร (Food Service) ธุรกิจค้าปลีกและลอจิสติกส์ ล้วนแล้วแต่เป็นการบริหารวงจรอุปทานของห่วงโซ่อาหารในภาคบริการ ซึ่งเป็นอีกเบ้าหลอมใหญ่ของการสร้างคนและเตรียมกำลังคน
เขามองว่าที่ผ่านมาเมืองไทยพูดกันมากเรื่องเศรษฐกิจองค์ความรู้ แต่เก่งเฉพาะกับการตั้งคำถามว่า อะไรและทำไม แต่พอถึงคำถามว่า อย่างไร กลับคิดต่อไม่ได้ วิเคราะห์เก่ง แต่พอถึงขั้นตอนที่ต้องทำอย่างไร เมื่อไหร่ ที่ไหน กับใคร กลับเงียบหายไปเลย ฉะนั้นการมุ่งแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำในสถานศึกษา ด้วยการสอนให้เรียนโดยภาคปฏิบัติ คิดเป็นและทำเป็น ฝึกคนเก่ง กล้า และดี ไม่สร้างปัญหาให้ประเทศ หรือออกไปยกพวกตีกัน จะทำให้คนของเราเดินไปสู่เส้นทางการขายสมอง เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศได้
หลาก หลายองค์ความรู้ในธุรกิจ สามารถเข้าถึงได้ ด้วยการทำตัวเองให้เป็นนักสำรวจ อย่างสุกี้เอ็มเคทำอย่างไรถึงสำเร็จได้ถึงทุกวันนี้ ทำไมโออิชิถึงเลือกที่จะวางกลยุทธ์แบบนั้น ทุกอย่างเป็นการเดินไปในแนวทางของ corporate university ในยุคที่การสร้างความแตกต่างหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ
เขายืนยันว่า การที่ PIT มีซีพี ออลล์เป็นแบ็คอัพ ประเด็นหลักไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องขององค์ความรู้สะสม ที่ต้องเอามาเชื่อมโยงถึงกัน ทุกวันนี้องค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง SCG เครือซีพี สหพัฒน์ ปตท. ล้วนแล้วแต่เป็นกล่องความรู้มหึมาที่มหาวิทยาลัยไหนๆ ก็สู้ไม่ได้
“ประเทศไทยเราไม่มีเวลารอให้นับหนึ่งกันใหม่ ในฐานะอธิการบดีผมจะพยายามทำให้ทุกอย่างเดินหน้าโดยเร็วที่สุด มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก ดึงความเชื่อมโยงทั้งหมดเข้ามาทั้งเครือซีพี ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนล้วนแล้วแต่แข่งขันกันดุเดือดรุนแรง ทุกสถาบันต่างต้องไฮไลต์ความโดดเด่นของตัวเอง”
หนึ่งในแนวทางที่ PIT มองก็คือ Oriental Business Culture วัฒนธรรมธุรกิจตะวันออก จากการตั้งคำถามว่า ทำไมการเรียนรู้ทุกวันนี้ถึงถูกครอบงำโดย MBA ตะวันตก ด้วยกูรูจากสายของมหาวิทยาลัยเคลล็อก หรือวาร์ตันเพียงอย่างเดียว ในเมื่อเป็นยุคของภูมิปัญญาตะวันออก และตั้งแต่อดีตกาลโลกตะวันออกก็มีปรัชญาเมธีอย่างซุนวู ขงจื๊อ ที่มีวิธีคิดทั้งแง่มุมการบริหารจัดการและการใช้ชีวิตอย่างโดดเด่นอยู่แล้ว
“ทำไม คนไทยไม่เน้นธุรกิจตะวันออก ทั้งๆ ที่เรามีแบบอย่างความสำเร็จอย่างญี่ปุ่น กรณีศึกษาโตโยต้า กับหลักการไคเซ็นที่คิดเองทำเอง และเป็นของตัวเองไม่ได้มาจากตะวันตก ทำไมเราไม่ค่อยชอบมอง”
ปีหน้านี้ PIT จะมีบัณฑิตรุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษา และเปิดตัวเข้าสู่ตลาดแรงงาน สิ่งที่ ดร.สมภพตั้งใจก็คือ การทำให้ PIT เป็นแบบอย่างของการผลิตคน เพราะคนคือกุญแจดอกสำคัญเพียงดอกเดียวที่ไขไปสู่โอกาสการพัฒนาประเทศ
ต้องสร้างคนให้เป็น global HR ในยุคที่โลกไร้รอยเชื่อมต่อ

Source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20100810/347300/CP-All-+-PIT-=-ธุรกิจองค์ความรู้.html